top of page
Writer's pictureSathaworn

Air Turbulence ภัยเงียบบนท้องฟ้า

Updated: May 24


เครื่องบินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์เที่ยวบิน SQ321 จากลอนดอน-สิงคโปร์ ได้ขอลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อเวลา 15.34 น. วันที่ 21 พฤษภาคม เนื่องจากเครื่องบินตกหลุมอากาศ (Airp Pocket) ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 30 คน และมีผู้เสียชีวิต 1 คน ผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดถูกส่งไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียงแล้ว

การตกลุมอากาศ (Air pocket) กับ กระแสอากาศปั่นป่วน (Air turbulence)


การตกหลุมอากาศ (Air pocket) หมายถึง การโยนตัวอย่างทันทีทันใดของเครื่องบิน ส่งผลให้เครื่องบินเกิดการสั่นสะเทือน หรือเปลี่ยนระดับความสูงอย่างรวดเร็ว


ในขณะที่ Air turbulence หรือ "กระแสอากาศปั่นป่วน" เป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทาง และความเร็วของอากาศในบริเวณที่อากาศมีความปั่นป่วน เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของลม ภูมิประเทศ สภาพอากาศ


Air pocket และ Air turbulence มีความสัมพันธ์กันอยู่บ้าง กล่าวคือ Air pocket อาจเป็นผลมาจาก Air turbulence บางประเภท อย่างไรก็ตาม ทั้งสองปรากฏการณ์ก็มีลักษณะแตกต่างกันอยู่ ดังนี้

  1. Air pocket มักเกิดขึ้นภายในบริเวณ Convective turbulence เนื่องจากมวลอากาศเย็นไหลลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ความหนาแน่นอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน ส่งผลให้เครื่องบินร่วงหล่นชั่วขณะ

  2. Air turbulence ไม่จำเป็นต้องมี Air pocket เสมอไป

  3. Air turbulence สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะ และระดับความรุนแรง เช่น Clear air turbulence หรือ Mechanical turbulence จากลมพัดผ่านภูเขา ซึ่งอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นของอากาศมากพอจนทำให้เกิด Air pocket

  4. ผลกระทบของ Air turbulence ต่อเครื่องบินมีหลากหลายตั้งแต่อ่อนถึงรุนแรง เช่น ทำให้เครื่องสั่นสะเทือน แต่ Air pocket มักส่งผลให้เครื่องบินร่วงหล่นในแนวดิ่งชั่วขณะ


ประเภทของกระแสอากาศปั่นป่วน

สามารถแบ่งตามลักษณะการเกิด ได้ดังนี้

  1. Mechanical turbulence คือ แรงเสียดทานระหว่างอากาศกับพื้นดิน โดยเฉพาะบริเวณภูมิประเทศที่ไม่สม่ำเสมอ และบริเวณที่มีสิ่งกีดขวางที่มนุษย์สร้างขึ้น ก่อให้เกิดการหมุนวน และความปั่นป่วนในระดับต่ำ ภูมิประเทศยิ่งขรุขระ ความปั่นป่วนก็จะยิ่งมาก

  2. Thermal/Convective turbulence สามารถเกิดขึ้นได้ในวันที่อากาศร้อนช่วงฤดูร้อน เมื่อดวงอาทิตย์ทำให้พื้นผิวโลกร้อนขึ้นอย่างไม่สม่ำเสมอ พื้นผิวบางแห่ง เช่น พื้นที่ที่แห้งแล้ง พื้นที่ที่มีหิน และทรายจะร้อนขึ้นเร็วกว่าทุ่งหญ้า แลน้ำ ทำให้เกิดกระแสการพาความร้อนขึ้น ทำให้เกิด "สภาพขรุขระ" ส่งผลต่อเส้นทางการบินของเครื่องบินที่เข้าใกล้สนามบิน

  3. Frontal turbulence เป็นการยกตัวของอากาศอุ่นที่บริเวณพื้นผิวแนวปะทะอากาศที่ลาดเอียง และแรงเสียดทานระหว่างมวลอากาศสองมวลที่ต่อต้านกัน ก่อให้เกิดความปั่นป่วนในบริเวณแนวปะทะอากาศ

  4. Wind shear คือลมเปลี่ยนทิศหรือความเร็วกะทันหัน (ลมเฉือน) มักพบบริเวณที่มีการผกผันของอุณหภูมิ ตามแนวร่องความกดอากาศต่ำ และรอบกระแสลมเจ็ต (Jet stream)

  5. Clear air turbulence (CAT) คือ กระแสอากาศปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส เกิดในสภาพอากาศปลอดโปร่ง ไม่มีเมฆ หรือมีเมฆน้อย ยากต่อการคาดการณ์ มักจะเกิดขึ้นบริเวณใกล้ ๆ กระแสลมเจ็ท (Jet stream) ช่วงรอยต่อระหว่างบรรยากาศชั้น โทรโพสเฟียร์ (Troposphere) อยู่สูงจากพื้นดินขึ้นไปประมาณ 0-10 กิโลเมตร เป็นบริเวณที่มีไอน้ำ เมฆ หมอก และพายุ กับชั้นสตราโทสเฟียร์ (Stratosphere) มีความสูงตั้งแต่ 10-50 กิโลเมตร เป็นชั้นที่ไม่มีเมฆ มักใช้ในการเดินทางทางอากาศ ทั้งนี้ CAT เป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับกระแสอากาสปั่นป่วนในการเดินทางทางอากาศ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้โดยสารจึงได้รับคำแนะนำให้คาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาแม้ในสภาพอากาศที่แจ่มใส

A commercial airplane flying

ระดับความรุนแรงของกระแสอากาศปั่นป่วน

ระดับความรุนแรงของการตกหลุมอากาศ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ ตามการจัดแบ่งขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ดังนี้

  1. Light turbulence (กระแสอากาศปั่นป่วนเล็กน้อย) ทำให้เครื่องบินสั่นสะเทือนเล็กน้อย คล้ายขับรถบนถนนขรุขระ ไม่รบกวนการควบคุมเครื่องบิน เครื่องบินจะมีการเปลี่ยนแปลงระดับความสูง และ/หรือ ท่าทางเล็กน้อยชั่วขณะ ผู้โดยสารอาจรู้สึกถึงแรงดึงเล็กน้อยจากเข็มขัดนิรภัย

  2. Moderate turbulence (กระแสอากาศปั่นป่วนปานกลาง) คล้ายกับ Light turbulence แต่รุนแรงกว่าเล็กน้อย นักบินยังสามารถควบคุมเครื่องบินได้ ผู้โดยสารจะรู้สึกถึงแรงดึงที่ชัดเจนจากเข็มขัดนิรภัย และสิ่งของที่ไม่ได้ยึดไว้จะหลุดออกจากที่

  3. Severe turbulence (กระแสอากาศปั่นป่วนรุนแรง) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับความสูง และ/หรือ ท่าทางของเครื่องบินอย่างกะทันหัน เครื่องบินอาจสูญเสียการควบคุมชั่วขณะ เครื่องบินมีการสั่นสะเทือนอย่างแรง ผู้โดยสารอาจรู้สึกถึงแรงดึงมหาศาลจากเข็มขัดนิรภัย ผู้ที่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยอาจลอยตัวขึ้นเหนือที่นั่ง

  4. Extreme turbulence (กระแสอากาศปั่นป่วนรุนแรงมากที่สุด) เครื่องบินมีการเคลื่อนไหว และอาจจะถูกเหวี่ยงอย่างรุนแรงไม่สามารถควบคุมได้ อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างของเครื่องบิน ผู้โดยสารอาจได้รับบาดเจ็บสาหัส แม้จะคาดเข็มขัดนิรภัยแล้วก็ตาม


ผลกระทบจากการตกหลุมอากาศ

ผลกระทบส่วนใหญ่ของการตกหลุมอากาศโดยรวมส่วนใหญ่แล้วไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อเครื่องบิน เพราะเครื่องบินพาณิชย์ทุกลำได้รับการออกแบบให้ทนทานต่อแรงกระแทก และสั่นสะเทือนระดับหนึ่ง ในกรณีผลกระทบกับผู้โดยสารนั้นมักจะมาในรูปแบบความรู้สึกไม่สบายตัว และไม่สบายใจของผู้โดยสาร อาจมีการบาดเจ็บเล็กน้อยหากไม่คาดเข็มขัดนิรภัย แต่ในบางครั้งก็สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรง หรือเสียชีวิตได้



References


Comments


bottom of page