Leadership: Making Others Better and Creating Lasting Impact
ถ้าองค์กรมีผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ หรือผลักดันให้คนในองค์กรสามารถทำงานได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีความสุขมากขึ้น คุณคิดว่าองค์กรนั้นจะเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จขนาดไหน?
มีกูรูเคยพูดเอาไว้ว่า “If your actions inspire others to dream more, learn more, do more, and become more, you are a leader.” .... เห็นด้วยไหมครับ?
การทำให้บุคลากรในองค์กรทำงานได้อย่างมีความสุข มีประสิทธิภาพนั้น มีเครื่องมือ และวิธีการมากมาย เช่น การให้ของรางวัล การเลื่อนตำแหน่ง การฝึกอบรม การมีเพื่อนร่วมงานที่ดี องค์กรมีวิสัยทัศน์ชัดเจน การบริหารที่เป็นธรรม หรือการแสดงการรับรู้ในผลงานของบุคลากร เป็นต้น การโค้ช (Coaching) ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถส่งเสริมให้บุคคลากรสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพ และมีความสุขมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน
Coaching คืออะไร
การโค้ช (Coaching) คือ กระบวนการที่โค้ช (Coach) ทำงานร่วมกับผู้รับการโค้ช (Coachee) เพื่อช่วยให้ผู้รับการโค้ชบรรลุเป้าหมาย พัฒนาศักยภาพ และปรับปรุงประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำงาน ความสัมพันธ์ หรือการพัฒนาตนเอง มีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า การโค้ชสามารถช่วยเพิ่มผลการปฏิบัติงาน ความผูกพันของพนักงาน และความพึงพอใจในชีวิต และการทำงานเมื่อดำเนินการอย่างมีคุณภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของ Coachee
Coaching เป็นกระบวนการที่เน้นการเรียนรู้ และการพัฒนา โดยอาศัยการสนทนา และการตั้งคำถามเชิงสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นให้ Coachee ได้สำรวจความคิด และพฤติกรรม "ของตนเอง" ค้นหาทางเลือกใหม่ๆ และลงมือปฏิบัติ "ด้วยตนเอง" เพื่อบรรลุเป้าหมาย หรือสร้างความภาคภูมิใจ "สำหรับตนเอง"
of oneself, by oneself, for oneself
โดย Coach จะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ในการเรียนรู้ และการพัฒนาของ Coachee โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และเปิดกว้าง การฟังอย่างตั้งใจ การตั้งคำถามที่ท้าทายความคิด และการ feedback ที่สร้างสรรค์ เพื่อช่วยให้ Coachee เกิดการเรียนรู้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยตนเองในที่สุด
จะสังเกตเห็นคำว่า "ด้วยตนเอง" ค่อนข้างบ่อย ทั้งนี้มีสาเหตุเนื่องจากว่า คนที่รู้เรื่องของ Coachee ดีที่สุด คนที่เข้าใจใน Coachee ที่สุด คนที่สามารถหาวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับ Coachee คนนั้นก็คือ ..... ถูกต้องครับ "ตัว Coachee เอง" นั่นเอง แล้วคำว่า "ด้วยตนเอง" สำคัญอย่างไร?
Sense of Ownership
ในความเป็นจริง เราจะรู้สึกภาคภูมิใจมากในสิ่งที่เราคิดเอง หรือทำขึ้นมาเอง ไม่ว่าจะเป็นการประกอบตู้เก็บหนังสือที่ซื้อมาจาก IKEA เอง ที่ถึงแม้ว่าจะใช้เวลาในการประกอบนาน ประกอบผิดๆถูกๆในตอนแรก แต่พอสุดท้ายทำเสร็จเราทุกคนก็จะยืนจ้องผลงานของเราอย่างภาคภูมิใจ เป็นแบบนี้ไหมครับ? หรือง่ายๆ แค่การล้างรถเอง พอล้างเสร็จเราก็จะยืนชื่นชมความเงางาม ความสะอาดของรถ รวมถึงหวงรถมากขึ้นเป็นพิเศษ รอยเล็กรอยน้อยเห็นไม่ได้ต้องคอยเช็ดออก
เหล่านี้เป็นตัวอย่างง่ายๆ ของคำว่า Sense of ownership หรือความรู้สึกเป็นเจ้าของ ดังนั้นถ้า Coach บอกวิธีการทุกอย่างให้ Coachee ทำตาม นอกจากอาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดสำหรับ Coachee แล้ว ความรู้สึกเป็นเจ้าของก็จะไม่เกิดขึ้นกับ Coachee ด้วย ส่งผลให้ไม่มี "ความยั่งยืน" ได้
หมายเหตุ: Coaching แตกต่างจากการให้คำปรึกษา (Counseling) หรือการเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring) ตรงที่ Coaching มุ่งเน้นไปที่ปัจจุบัน และอนาคต โดยเชื่อว่าผู้รับการโค้ชมีศักยภาพ และมีคำตอบอยู่ในตัวเอง ในขณะที่การให้คำปรึกษามักจะเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาทางอารมณ์หรือจิตใจ ส่วนการเป็นพี่เลี้ยงเน้นการถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์จากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่าไปยังผู้ที่มีประสบการณ์น้อยกว่า
Reflective Coaching
Reflective Coaching เป็นแนวทางการโค้ชที่มุ่งเน้นให้ Coachee ได้สะท้อนความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์ของตนเอง เพื่อค้นหาศักยภาพพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อกระตุ้นให้ผู้รับการโค้ชเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งกระบวนการสำคัญระหว่างการโค้ช ประกอบด้วย การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) การตั้งคำถามที่ท้าทาย (Challenging Questions) และการให้ข้อมูลป้อนกลับที่สร้างสรรค์ (Constructive Feedback)
การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)
การฟังอย่างลึกซึ้ง เป็นทักษะสำคัญในการ Coach ซึ่งหมายถึงการฟังด้วยความตั้งใจ ไม่เพียงแต่คำพูด แต่รวมถึงน้ำเสียง ภาษากาย และความรู้สึกที่อยู่เบื้องหลังคำพูดของ Coachee เพื่อทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงมุมมอง ความต้องการ และประสบการณ์ของพวกเขา โดยโค้ชต้องตั้งใจฟัง และให้ความสนใจอย่างเต็มที่กับ Coachee โดยไม่มีการตัดสิน หรือแสดงความคิดเห็นของตนเองออกไป รวมถึงต้องพยายามเข้าใจความคิด ความรู้สึกของ Coachee จากมุมมองของพวกเขา แสดงความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจต่อสิ่งที่พวกเขากำลังประสบอยู่ ตลอดเวลาของการโค้ชนั้น โค้ชต้องสังเกตน้ำเสียง ท่าทาง และภาษากายของ Coachee อยู่ตลอด ซึ่งสิ่งที่แสดงออกมาอาจสื่อถึงความรู้สึก หรือความคิดที่ซ่อนอยู่
ไม่ใช่ฟังอย่างเดียว โค้ชต้องทำการสะท้อนความเข้าใจกลับไป โดยการพูดสรุป หรือทวนคำพูดของ Coachee เพื่อให้เขาได้ยินสิ่งที่ตนพูดออกมา รวมถึงเป็นการยืนยันความถูกต้องในสิ่งที่โค้ชได้ยิน เพื่อให้แน่ใจว่าได้เข้าใจอย่างถูกต้อง และเปิดโอกาสให้ Coachee ได้ขยายความ หรือแก้ไขความเข้าใจนั้น และที่สำคัญโค้ชต้องตั้งคำถามเพื่อทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยใช้คำถามปลายเปิดเพื่อกระตุ้นให้ Coachee ได้สำรวจความคิด และความรู้สึกของตนเองให้ลึกซึ้ง ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น "ที่ว่าอยากลดน้ำหนัก คืออยากลดกี่กิโล และมีระยะเวลากำหนดไหม" หรือ "สรุปว่าวันนี้เราจะมาคุยกันประเด็นไหนดี"
การตั้งคำถามที่ท้าทาย (Challenging Questions) และการตั้งคำถามเชิงบวก (Appreciation Inquiry)
ขอรวมการตั้งคำถามทั้ง 2 แบบไว้ด้วยกันนะครับ โดยการตั้งคำถามที่ท้าทาย (Challenging Questions) เป็นเทคนิคสำคัญในการโค้ช ที่มุ่งกระตุ้นให้ Coachee ได้สำรวจความคิด ความเชื่อ และมุมมองของตนเองอย่างลึกซึ้ง ด้วยคำถามที่กระตุ้นให้คิด (Thought-Provoking Quesitons) เพื่อค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการจัดการกับความท้าทาย รวมถึงวิธีการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย ที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด
การตั้งคำถามเชิงบวก Appreciative Inquiry เป็นการตั้งคำถามที่จะเปิดโอกาสให้กับ จินตนาการ และนวัตกรรม แทนที่จะเป็นความคิดด้านลบ หรือการวิพากษ์วิจารณ์ โดย Appreciative Inquiry นั้นมีสมมติฐานว่า "ในทุกระบบล้วนแล้วแต่มี เรื่องราวด้านบวกที่สร้างแรงบันดาลใจ ที่ยังไม่มีใครนำมาขยายผล เราสามารถเชื่อมโยงการค้นพบด้านบวกนี้ เข้ากับเรื่องใดก็ได้" วงจร Appreciative Inquiry จะเริ่มจากการค้นหาประสบการณ์ที่ดีที่สุด (Peak Experience) จากนั้นเอาประสบการณ์ที่ได้ไป สานต่อเป็นความฝัน หรือวิสัยทัศน์ (Dream) วางแผนทำให้วิสัยทัศน์เป็นจริง (Design) และเริ่มต้นทำ (Destiny)
ซึ่งการตั้งคำถามเชิงบวก สามารถใช้หลักการจาก SOAR Analysis ซึ่งประกอบด้วย Strengths, Oppotunities, Aspirations, และ Results อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก
ตัวอย่างคำถาม
จะปล่อยให้ทุกข์ หรือเครียดอย่างนี้ไปถึงเมื่อไหร่
จะอนุญาตตัวเองให้อภัยในเรื่องที่ผ่านมาได้หรือยัง
ถ้ายังเป็นแบบนี้ จะทำให้เราเป็นในสิ่งที่เราอยากเป็นได้ไหม
ทำไมถึงอยากทำหละ
คิดว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต่างไปจากเดิม
ภาพคนที่ประสบความสำเร็จ และมีความสุขที่สุดในแบบที่คุณเลือก เป็นยังไง
คำว่า “มั่นคง” ของคุณคืออะไร จะรู้ได้อย่างไรว่ามั่นคงแล้ว
การได้ใช้ชีวิตแบบที่ต้องการ มันสำคัญกับคุณมากแค่ไหน
คิดว่ามีอะไรที่น่าจะทำ แต่ยังไม่ได้ลองทำไหม
อะไรที่เป็นจุดแข็งของคุณที่นำมาใช้ได้
ต้องการให้ใครช่วยไหม
มีใครสามารถทำให้บรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้นไหม
การให้ข้อมูลป้อนกลับที่สร้างสรรค์ (Constructive Feedback)
การให้ข้อมูลป้อนกลับที่สร้างสรรค์ (Constructive Feedback) เป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการในการโค้ช ที่มุ่งเน้นการให้ข้อมูลที่เฉพาะเจาะจง ตรงไปตรงมา และมีประโยชน์ เพื่อช่วยให้ Coachee ได้เห็นจุดแข็ง จุดที่ต้องพัฒนา และโอกาสในการปรับปรุงของตนเอง ซึ่งก็คือการสะท้อนนั่นเอง
โค้ชต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจน และเจาะจงเกี่ยวกับพฤติกรรม ผลลัพธ์ หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือ หรือกว้างเกินไป ข้อมูลที่ป้อนกลับไป ต้องเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับพฤติกรรม หรือการกระทำ ไม่ใช่คำตัดสิน หรือการวิพากษ์วิจารณ์ตัวบุคคล นอกจากนี้ โค้ชอาจจะชี้ให้เห็นทั้งจุดแข็ง และจุดที่ต้องพัฒนา เพื่อให้ Coachee ได้เห็นภาพรวมของตนเองอย่างสมดุล และมีกำลังใจในการพัฒนาต่อไป
โค้ชต้องไม่ลืม "ชม" Coachee ด้วยนะ แต่ต้องเป็นการชมจากใจจริง ผ่านทางสายตา น้ำเสียง ท่าทาง และระมัดระวังเรื่องจังหวะเวลา และความถี่ด้วย ไม่ใช่เอะอะชม เอะอะชม Coachee จะสัมผัสได้ถึงความไม่จริงใจ และสูญเสียสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยไป
ฟังให้ลึก สะท้อนให้ชัด ถามให้คม ชมให้เป็น
สุดท้ายก่อนโค้ชคนอื่น ลองหันมาโค้ชตนเองก่อน พูดคุยกับตัวเอง หาทางออก หาวิธีการ ฝึกให้ชำนาญแล้วจึงค่อยโค้ชคนอื่น และอย่าโค้ชคนที่ไม่ได้ขอให้เราโค้ชนะครับ
อ้างอิง
Noon The Reflective Coach https://www.facebook.com/NoonReflectiveCoach/
Komentáře