top of page
Writer's pictureSathaworn

ทำไมกาแฟบนเครื่องบินถึงรสแปลกๆ

ไม่ใช่เพราะขั้นตอนการคั่วเมล็ดกาแฟ ไม่ใช่เพราะอุปกรณ์ในการชง ไม่ใช่เพราะฝีมือคนชง และไม่ใช่เพราะเมล็ดกาแฟครับ…. รู้ไหมว่าหลายๆสายการบินชั้นนำของโลกได้เลือกใช้เมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพสูง หรือไม่ก็สั่งซื้อจากยี่ห้อดังๆ เช่น Starbucks (Delta) หรือ Dunkin’ Donuts (Jet Blue) มาบริการผู้โดยสารกัน มาดูสาเหตุที่ทำให้รู้สึกว่ากาแฟที่บริการบนเครื่องบินมีรสชาติไม่ถูกใจนั้นมีสาเหตุมากจากอะไรบ้าง





สาเหตุที่ 1: น้ำ


สาเหตุแรกที่ทำให้กาแฟบนเครื่องรสชาติแปลกๆ คือ “น้ำ” ที่ใช้ชงกาแฟ ซึ่งเครื่องบินแต่ละลำจะมีแท้งค์เก็บน้ำ "Potable Water" โดยน้ำดังกล่าวจะถูกใช้สำหรับการเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ชา/กาแฟ ในครัวบนเครื่องบิน (Galley) รวมถึงเป็นน้ำที่ใช้ในห้องน้ำด้วย สรุปว่าทั้งใน Galley และในห้องน้ำ ใช้น้ำจากแหล่งเดียวกันนั่นเอง (แต่น้ำดื่มจะใช้น้ำจากขวด) จริงๆ แล้วก็ไม่แปลก เพราะถ้าเทียบกับที่บ้าน น้ำที่เราใช้ในบ้านไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใด ก็มาจากแหล่งเดียวกัน


เนื่องจากว่าน้ำที่ใช้สำหรับบริการผู้โดยสารต้องเป็นไปตามข้อกำหนด และมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้โดยสาร น้ำที่ใช้บริการบนเครื่องบินจึงได้ผ่านกระบวนการกรอง และฆ่าเชื้อโรคหลายขั้นตอนก่อนจะถึงแท้งค์น้ำของเครื่องบิน กระบวนการโดยทั่วไปประกอบด้วยการกรองด้วยถ่านกัมมันต์ (Activated Carbon Filtration) การรีเวิร์สออสโมซิส (Reverse Osmosis) และการฆ่าเชื่อโรคด้วยแสงอัลตราไวโอเลต (Ultra Violet Treatment) อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจก่อนว่าคุณภาพของน้ำที่ใช้บริการบนเครื่องบินอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสายการบิน และเครื่องบินแต่ละลำ ในบางกรณีน้ำอาจไม่ได้มาตรฐานเหมือนน้ำประปา


แต่อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยระบุว่ามีการพลแบคทีเรียหลายชนิดที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค อาศัยอยู่ในแทงค์น้ำ และตลอดเส้นทางห่วงโซ่อุปทานของน้ำดื่มของสายการบิน โดยแบคทีเรียที่พบ เช่น Pseudomonas, Acinetobacter, และ Micrococcus เป็นต้น ทั้งนี้ความปลอดภัยของน้ำดื่มบนเครื่องบินนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น คุณภาพของแหล่งน้ำ วิธีการฆ่าเชื้อโรค และขั้นตอนการบำรุงรักษาระบบกักเก็บ และจ่ายน้ำ


หลายๆ งานวิจัยมีข้อเสนอแนะที่ตรงกันคือ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากก๊อกในห้องน้ำบนเครื่องบินเพื่อการดื่ม หรือนำเข้าสู่ร่างกาย (เช่น บ้วนปาก แปรงฟัน) และเลือกใช้น้ำดื่มบรรจุขวดหรือเครื่องดื่มที่เสิร์ฟในภาชนะที่ปิดสนิทแทน


สรุปว่าน้ำที่ใช้ชงส่งผลต่อรสชาติของกาแฟ และชาที่ให้บริการบนเครื่องบิน เนื่องจาก แหล่งที่มาของน้ำ คุณภาพ กระบวนการกรอง และความสดใหม่ของน้ำ นั่นเอง


สาเหตุที่ 2: อุณหภูมิในการชง


ที่ความสูง 35,000 ฟุต จากระดับน้ำทะเล น้ำจะเดือดที่อุณหภูมิไม่ถึง 100 องศาเซลเซียส (ประมาณ 91.6 องศาเซลเซียส) เพราะจุดเดือดของน้ำจะลดลงเมื่อระดับความสูงเพิ่มขึ้น ทำให้ส่งผลต่อการละลายของผงกาแฟ และส่งผลให้กาแฟมีรสชาติที่แปลกไป


นอกจากนี้ อุณหภูมิของน้ำยังมีบทบาทต่อรสชาติของชา และกาแฟ เนื่องจากอุณหภูมิส่งผลต่อการปล่อยสารระเหยที่ส่งผลต่อรสชาติ บนเครื่องบินนั้นกาแฟอาจจะถูกเสิร์ฟในอุณหภูมิที่แตกต่างจากที่คุ้นเคย ซึ่งส่งผลต่อรสชาติของกาแฟไม่มากก็น้อย


*** โดยทั่วไป น้ำเดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสสามารถฆ่าแบคทีเรีย ไวรัส และจุลินทรีย์อื่นๆ ได้เกือบทั้งหมด ดังนั้นบนเครื่องบิน น้ำจะเดือดที่อุณหภูมิต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียส จึงอาจไม่ร้อนพอที่จะฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ทั้งหมด


สาเหตุที่ 3: ต่อมรับรส และประสาทรับกลิ่น


ความกดอากาศในห้องโดยสารเครื่องบินต่ำกว่าบนพื้น ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของต่อมรับรส และประสาทรับกลิ่น ทำให้การรับรู้รสชาติของอาหาร และเครื่องดื่มน้อยลง หรือจืดชืดลงเล็กน้อย นอกจากนี้ ความชื้นต่ำภายในห้องโดยสารอาจทำให้ปากและจมูกแห้ง ทำให้ความสามารถในการรับรส และกลิ่นลดลงไปอีก


นอกจากนี้ การบินนานๆ อาจสร้างความเครียดให้กับบางคน และความเครียดอาจส่งผลต่อการรับรู้รสชาติ นอกจากนี้ ความเหนื่อยล้าจากการเดินทางยังส่งผลต่อประสาทสัมผัส ทำให้รสชาติของอาหารและเครื่องดื่มแตกต่างไปจากเดิม


อ้างอิง

  • Keates, N., & Costello, J. (2002). How safe is airline water? Bring your own bottle.

  • Handschuh, H., Ryan, M. P., O’Dwyer, J., & Adley, C. C. (2017). Assessment of the bacterial diversity of aircraft water: identification of the frequent fliers. PLoS One, 12(1), e0170567.

6 views0 comments

コメント


bottom of page