นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2454 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการนำเครื่องบินมาทำการบินในประเทศไทย ณ สนามม้าสระปทุม (ปัจจุบันคือราชกรีฑาสโมสร) ทำให้ประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการบิน และได้จัดตั้งหน่วยบินสำหรับป้องกันประเทศขึ้น เพื่อเป็นการสร้างบุคลากรด้านการบินที่มีประสิทธิภาพให้กับประเทศ ทางกองทัพได้มอบหมายให้ พันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุณี สุวรรณประทีป) ต่อมาคือ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ ร้อยเอก หลวงอาวุธลิขิกร (หลง สินสุข) ต่อมาคือ นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และ ร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต ต่อมาคือ นาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต เดินทางไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศสจนสำเร็จ และ กองทัพอากาศได้ยกย่องท่านทั้งสามเป็น “บุพการีของกองทัพอากาศ” นับตั้งแต่นั้นมา อุตสาหกรรมการบินของไทยมีความเจริญก้าวหน้า และพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนชั้นนำของประเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 ภายใต้เจตนารมณ์ของ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ และอาจารย์สนั่น เกตุทัต และด้วยพัฒนาการที่ไม่หยุดยั้ง ในปี พ.ศ. 2558 สภาวิชาการมหาวิทยาลัยได้อนุมัติหลักสูตรศิลปศาตรบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจการบิน และในปี พ.ศ. 2559 หลักสูตรศิลปศาตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีการบิน (หลักสูตร 2 ภาษา ไทย-อังกฤษ) ด้วยทางมหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ และมีความรู้ด้านวิชาชีพพื้นฐานด้านการบินที่พร้อมจะประกอบอาชีพและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมการบิน
วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน เป็นวิทยาลัยด้านการบินชั้นนำของประเทศ ประกอบด้วยหลักสูตรที่ได้มาตรฐานสากล มีคณะอาจารย์ที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการบินมาอย่างยาวนาน มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้เป็นอย่างดี และวิทยาลัยฯ มีอุปกรณ์การเรียนการสอนครบครันทันสมัย เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับนักศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ
อุปกรณ์ และห้องฝึกปฏิบัติการ
สำหรับใช้ในการเรียนการสอนหลักสูตรธุรกิจการบิน หลักสูตรการจัดการเทคโนโลยีการบิน และหลักสูตรฝึกอบรมมาตรฐาน IATA มีดังนี้
ห้องฝึกปฏิบัติการการบริการบนเครื่องบิน ใช้เครื่องบินแอร์บัส A300-600 (In-flight Service)
ห้องฝึกปฏิบัติการการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Controller)
เจ้าหน้าที่อำนวยการบิน (Flight Operation / Flight Dispatcher)
ห้องฝึกปฏิบัติการการบริการภาคพื้นดิน (Ground Service)
เครื่องช่วยฝึกบินจำลอง Flight Simulator (Cessna 172) จำนวน 2 เครื่อง
เครื่องช่วยฝึกบินจำลอง Flight Simulator (Boeing 737-800) จำนวน 1 เครื่อง
ห้องฝึกอบรมตามมาตรฐาน IATA
ห้องฝึกปฎิบัติการดับเพลิงบนเครื่องบิน (Fire Drill)
อุปกรณ์ฝึกการอพยพจากเครื่องบินกรณีฉุกเฉิน (Slide Drill)
อุปกรณ์ฝึกการ Ditching
ห้องฝึกปฏิบัติการการสำรองที่นั่งโดยสารด้วยระบบ AMADEUS
อุปกรณ์ฝึกปฏิบัติการการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น หุ่นสำหรับฝึกการทำ CPR และ เครื่องกระตุกหัวใจ (AED)
Comments