top of page
Writer's pictureSathaworn

10 เทคนิคนอกกรอบ พิชิตสอบ TOEIC

Updated: May 5, 2023

“ทำไม่ได้หรอก TOEIC ตั้ง 650”…

นักศึกษาหลายคนมาบ่นให้ผมฟัง บ่นเสร็จก็ท้อ ท้อแล้วก็เลิก…


แต่ผมเชื่อว่า ทุกคนทำได้ ครับ ทุกคนมีความเก่งในตัว ถ้าวางแผนดีๆ และมีความเชื่อมั่นในตัวเอง อย่าให้ใครมาดูถูกเรา เราอย่าดูถูกตัวเอง ตั้งใจเตรียมตัว ทำสอบให้ได้คะแนนที่ต้องการ แล้วทุกอย่างมันก็จะเป็นไปได้ครับ #Believe


คงไม่มีใครไม่เคยอ่านบทความเกี่ยวกับการพัฒนาภาษาอังกฤษ หรือการสอบภาษาอังกฤษ…

น้อยคนนักที่ ไม่รู้ว่า การที่จะทำให้เก่งภาษาอังกฤษต้องฟังเพลงเยอะๆ อ่านเยอะๆ ท่องศัพท์เยอะๆ ไม่ก็ดูหนังเสียงอังกฤษซับอังกฤษ ต่อด้วยเสียงอังกฤษซับไทย ต่อด้วยเสียงอังกฤษไม่มีซับ…ก็ว่ากันไป ประเด็นคือหลายคนรู้ แต่น้อยคนทำ…

ทุกคนทำได้ ทุกคนมีความเก่งในตัวเอง

วันนี้ขอไม่พูดถึงการฝึกภาษาอังกฤษสำหรับใช้ในชีวิตจริง ขอเน้นเรื่อง การทำสอบ TOEIC ดีกว่า ครั้งนี้ผมจะมาแนะนำเรื่อง 10 เทคนิคนอกกรอบพิชิตสอบ TOEIC เพื่อให้ได้ผลคะแนนที่ต้องการตามสไตล์อาจารย์โอครับ


ต้องขอบอกก่อนว่า ผมไม่ใช่อาจารย์สอนภาษาอังกฤษสายตรง ผมไม่เคยไปเรียนเมืองนอก แต่ผมชอบภาษาอังกฤษ หาทางศึกษาด้วยวิธีที่ตัวเองชอบ ทุกอย่างเริ่มจากการชอบ ไม่ใช่การถูกบังคับ และวิธีที่ผมใช้ฝึกนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผมทำอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว สำหรับ #TOEIC ผมไม่คิดว่ามันยากมากขนาดมาตัดสินได้ว่า เราจะได้ทำงานในฝันหรือไม่


เทคนิคทั้งหลายที่ผมกำลังจะบอก เป็นเทคนิคบ้านๆที่ทุกคนทำได้ ค้นพบเองได้ ผมเพียงต้องการกระตุ้นให้ทุกคนเริ่มทำได้แล้วครับ….

ทุกอย่างเริ่มจากการชอบ ไม่ใช่การถูกบังคับ

เทคนิคที่ 1 เป้าหมายต้องชัดเจน


คำว่า “เป้าหมาย” #Goal ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผมกำลังพูดถึงคะแนนที่ต้องการได้ และวัตถุประสงค์ของการได้คะแนนที่ต้องการ


หลายมหาวิทยาลัย หลายหน่วยงาน ก็มีการกำหนดเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้นักศึกษา หรือพนักงาน หรือคนที่จะเข้าทำงานนั้นมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษตามมาตรฐานที่คิดว่าเหมาะสมต่อสถาบันนั้นๆ เช่น นักศึกษาต้องได้คะแนน TOEIC 500 คะแนนขึ้นไปถึงจะเรียนจบ หรือผู้สมัครในตำแหน่งพนักงานสายการบินต้องมีคะแนน TOEIC 650 ขึ้นไป บางที่ก็ 700 บ้างแล้วแต่มาตรฐาน


ทีนี้สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกคือถามตัวเอง 3 ข้อดังนี้

  1. เราต้องการกี่คะแนน

  2. ตอนนี้เราอยู่ตรงไหน (ถ้าไปสอบตอนนี้ได้กี่คะแนน)

  3. เรามีเวลาเหลืออีกเท่าไหร่ (ที่ต้องทำให้ได้คะแนนตามที่ตั้งไว้)

แค่ 3 คำถามนี้ หาคำตอบให้ได้ แล้วเขียนใส่ post-it แปะไว้ตรงหน้าประตูห้องน้ำ หัวเตียง หรือทำเป็น background หน้าจอมือถือเราเลยก็ได้ จะได้ไม่มีข้ออ้าง #excuses เพราะการมีเป้าหมายที่ชัดเจน พร้อมระบุข้อจำกัดของเวลา จะทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้น (ไม่รู้ว่ามีวิจัยรองรับหรือเปล่า แต่ผมคิดว่ามีนะ)


*อย่าผัดวันประกันพรุ่ง (Procrastinate) เพราะยิ่งเวลาเหลือน้อย ยิ่งกดดัน ยิ่งเครียด โอกาส #ปล่อยจอย สูงมาก


เทคนิคที่ 2 รู้เขา รู้เรา


การรู้เรา หรือรู้ตัวเอง คือการที่เรารู้ว่าเราอ่อนด้อยที่ตรงไหน เด่นที่ตรงไหน Grammar หรือ Listening หรือ Vocabulary หรืออะไร บางคนบอกหนูอ่อนทุกอย่างที่บอกมา…. อันนี้คงต้องใช้เวลานานหน่อย….


การที่จะรู้ว่าเราอ่อนอะไร หรือเด่นด้านไหน มีวิธีเดียวครับคือ “ทำโจทย์” เยอะๆ เมื่อข้อสอบเยอะพอจะพบว่าข้อสอบ TOEIC นั้นจะมีคำถามอยู่ไม่กี่รูปแบบ เช่น Vocabulary, Phrasal Verb, Prefix, Suffix, If Clauses, Word family, Preposition, Subject-Verb agreement, Question tag เป็นต้น (ถึงตรงนี้บางคนเลิกอ่านบทความผมละ)


อย่าใช้ SWOT ให้มากนักนะครับ บางคนมองแค่ว่าเราด้อยอะไร แล้วเน้นพัฒนาจุดนั้นให้เก่งขึ้นมา มันเสียเวลาครับ ทำไมเราไม่มองว่าเราเจ๋งด้านไหนแล้วทำให้ให้ที่เจ๋งอยู่แล้ว ให้สุดยอดไปเลยหละ? (ลองอ่านบทความเรื่อง SOAR Analysis ดูนะครับ) ไม่ได้หมายความว่าอันไหนไม่ได้ก็ช่างมันนะครับ ไม่เหมือนกัน การเริ่มจากสิ่งที่เราเก่ง แล้วพัฒนาต่อไป จะทำให้เรามีกำลังใจในการทำมากกว่าการพัฒนาสิ่งที่เราไม่เก่ง เพราะมันจะยาก มันจะท้อ และมันจะหลับ


สำหรับการฝึกภาษาอังกฤษนั้น แนะนำว่าให้ถามตัวเองว่า

  1. ฉันชอบทำอะไร

  2. ฉันจะฝึกภาษาอังกฤษจากสิ่งที่ฉันชอบยังไง

เช่น ชอบนอน ก็ลองดูว่าคำศัพท์หรือประโยคที่เกี่ยวกับการนอนมีอะไรบ้าง เช่น

หมอน (pillow) ผ้าห่ม (blanket) เตียง (bed) ที่นอน (mattress) ผ้าปูที่นอน (bedsheet/sheet/linen) หมอนข้าง (bolster/roll pillow) ปลอกหมอน (pillowcase) หมอนยางพารา (latex pillow) หมอนหนุน (cushion) เสื้อนอน (nightgown) ตู้เสื้อผ้า (wardrobe) โต๊ะเครื่องแป้ง (dressing table/vanity/makeup table/beauty table/grooming table)


แล้วก็ต่อด้วยการสงสัยว่า "Pillow" กับ "Cushion" ต่างกันอย่างไร


นอกจากนี้การท่องคำศัพท์สำหรับเตรียมสอบ TOEIC เราต้องรู้ด้วยว่าคำเหล่านั้นเป็นคำ Noun, Verb, Adjective, หรือ Adverb ด้วย


การทำโจทย์จะทำให้เราทำข้อสอบได้เร็วขึ้น และมั่นใจมากยิ่งขึ้นครับ Practice makes perfect.

พอรู้เราแล้ว ทีนี้มารู้จักฝ่ายศัตรูบ้างดีกว่า…


รายละเอียดของการสอบ TOEIC

Skill Test

Listening

Reading

จำนวนข้อ (200 ข้อ)

100

100

คะแนนเต็ม (990 คะแนน)

495

495

Parts

1-4

5-7

เวลาสอบ (2 ชั่วโมง)

45 นาที

75 นาที


จากเทคนิคที่ #1 ที่ว่าด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน คือรู้แล้วว่าอยากได้กี่คะแนน สมมติว่าอยากได้ 650 คะแนน ทีนี้เรามาดูว่ามันไกลเกินเอื้อมหรือเปล่านะครับ


650 คะแนน ต้องทำถูกกี่ข้อ?


—- ส่วนต่อไปจะมีคำนวณเล็กน้อย ใครเกลียดเลข ข้ามไปอ่านข้อต่อไปเลยครับ —-


ข้อสอบทั้งหมด 200 ข้อ คะแนนเต็ม 990 คะแนน… ถ้าหารแบบให้เลขออกมากลมๆ ก็จะได้ 990/200 = 5 หมายความว่า เฉลี่ยข้อสอบ TOEIC มีคะแนน ข้อละ 5 คะแนน นั่นเอง (จริงๆแล้วมันไม่ค่อยตายตัว) ทีนี้เอาคะแนนที่เราอยากได้มาหารด้วย 5 ก็จะได้จำนวนข้อที่เราต้องทำให้ถูกโดยคร่าวๆ เช่น


อยากได้ 650 เอา 5 มาหาร 650/5 = 130


…คือถ้าอยากได้คะแนน 650 ต้อง ทำถูก 130 ข้อ เท่านั้น!!!!! จาก 200 ข้อนะครับ


ถ้ายังไม่ได้กำลังใจ พูดใหม่ ถ้าอยากได้ 650 คะแนน เรากา ผิดได้ 70 ข้อ!!! จาก 200 ข้อ Oh My Gosh!!! ผิดได้ 70 ข้อเชียวนะครับ… เริ่มเห็นความเป็นไปได้หรือยังครับ


ใครอยากได้ 500 คะแนน ก็ 500/5 ครับ ทำถูกแค่ 100 ข้อ ผิดได้ตั้ง 100 ข้อ WOW!!! ส่วนใครเคยได้ 350 คะแนน คุณก็กาผิดไปแค่ 130 ข้อแค่นั้นเอง ….


จะเห็นได้ว่าเมื่อเรารู้ตัวเอง รู้เวลาที่เหลือ และรู้จัก TOEIC ดีพอ จะรู้สึกว่า “มันเป็นไปได้” #Possible ใช่ไหมครับ


เทคนิคที่ 3 ทำไม่ได้ หรือทำไม่ทัน + เทคนิคที่ 4 อ่านในส่วนที่ต้องอ่าน อย่าทำเหมือนอยากได้ 990


**เหมารวม 2 เทคนิคอยู่ด้วยกันเลย… (จริงๆคิดได้แค่ 8 เทคนิค แต่เพื่อให้เท่ห์เลยเขียนเป็น 10 เทคนิค)


การสอบ TOEIC นั้นใครได้คะแนนดีกว่า ไม่ได้หมายความว่าจะเก่งภาษาอังกฤษกว่าคนที่ได้คะแนนน้อยเสมอไป เพราะมีหลาย skills ที่ต้องใช้ทำสอบนอกเหนือจากความรู้ด้านภาษาอังกฤษ เช่น การบริหารเวลา การอ่านแบบรวดเร็ว การคาดเดาอย่างมีตรรกะ (มั่วอย่างมีฟอร์ม) หรือแม้กระทั่งดวง…


การบริหารเวลา เป็นทักษะที่จำเป็นมากในการสอบ TOEIC โดยต่อ 1 ข้อของ Reading part นั้น เรามีเวลาทำจริงๆแค่ (100 ข้อ / 75 นาที) ประมาณ นาทีกว่าๆ ต่อข้อ


เวลานาทีกว่าๆ นี้รวมถึงการอ่านบทความ การวิเคราะห์คำถาม การฝนกระดาษคำตอบ และทุกอย่างที่มีส่วนในการทำโจทย์… ถามว่าน้อยไหม มันก็ไม่น้อย แต่ก็ไม่มาก ใครมัวแต่งมหาคำตอบข้อใดข้อหนึ่งนานเกินไป ก็จะส่งผลต่อข้อที่เหลืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ที่เคยเจอมานั้น หลายคนรู้อยู่แล้วว่าอยากได้ 650 ทำผิดได้ตั้ง 70 ข้อ… อาจจะลืมไปว่ามีเวลาทำแค่ 75 นาทีสำหรับ Reading Part ข้อไหนไม่รู้คำตอบ หรือหาคำตอบไม่เจอว่าอยู่ตรงไหนของบทความ ก็ไม่ควรที่จะเสียเวลาไปกับการหาคำตอบ หรือการอ่านซ้ำๆ บางครั้งสุดท้ายผ่านไป 5 นาทีดีใจได้มาข้อนึง แต่จริงๆ แล้ว 5 นาทีที่ใช้ไปนั้น อาจจะเอาไปทำข้อง่ายๆ ที่อยู่หลังๆ ได้เกือบ 10 ข้อ หมายถึงเรากำลังเอา 5 คะแนน ไปแลกกับ 50 คะแนนที่ควรจะได้


โดยเฉลี่ยที่พบมา มักจะมั่ว… ไม่ใช่สิ ต้องใช้คำว่า เดาคำตอบ กันประมาณ 20 ข้อสุดท้ายของ Part 7…. part ยานอนหลับ ส่วน 20 ข้อที่มั่วไปเท่ากับกี่คะแนน ก็เอา 5 คูณดูนะครับ


พออ่านถึงตรงนี้แล้ว จะมีคนบ่นว่า “แล้วใครจะไปทำทันหละ เวลาแค่นี้กับข้อสอบตั้งเยอะขนาดนี้? มันเป็นไปไม่ได้ It’s impossible!!!”


ผมยืนยันแบบมั่นใจเลยว่า “เป็นไปได้” เพราะหลายคนทำได้มาแล้ว


“ก็ Reading part เขามีให้อ่านนี่!” มีคนเถียงกลับ…


ใช่ครับ คุณเข้าใจไม่ผิด แต่เขาไม่ได้ให้คุณอ่านทุกตัวอักษร หรือทุกบรรทัดนี่นา…. เอาเป็นว่า


ให้อ่านในส่วนที่ต้องอ่าน อย่าอ่านในส่วนที่ไม่จำเป็นต้องอ่าน

สอบ TOEIC ติวภาษาอังกฤษอย่างเดียวไม่พอนะครับ อย่าลืมเรื่อง Time Management ด้วย สำคัญเหมือนกัน


เทคนิคที่ 5 Listening พาสู่ฝั่งฝัน


พูดเรื่อง Reading part มาเยอะ ฝ่าย Listening part ก็สำคัญไม่แพ้กัน ดีไม่ดีสำคัญกว่าซะอีกนะครับ เพราะถ้าดูตารางคะแนนกันจริงๆแล้ว ถ้าทำจำนวนข้อถูกที่เท่าๆกัน คะแนนส่วนของ Listening จะเยอะกว่าส่วนของ Reading ครับ


เช่น ถ้าทำได้ 30 ข้อเท่ากันทั้ง Listening และ Reading เราจะได้คะแนน Listening ที่ประมาณ 125 คะแนน ขณะที่ Reading จะได้เพียง 90 คะแนนเท่านั้น


ถ้าทำจำนวนข้อถูกที่เท่าๆ กัน คะแนนส่วนของ Listening จะเยอะกว่าส่วนของ Reading

ในมุมของเทคนิคการทำนั้น ฝั่งของ Reading Part เราต้องกังวลเรื่องเวลา และปริมาณข้อสอบ สำหรับด้าน Listening part นั้น เราต้องระวังเรื่อง การแยกระบบประสาท คุณต้องสามารถทำ Multi-tasking ได้ คือ ตาต้องอ่าน หูต้องฟัง สมองต้องคิด มือต้องจด ทั้งหมดนี่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน….


ตาต้องอ่านคำถาม และคำตอบข้อต่อๆ ไปก่อนจะเริ่มบทสนทนา สมองต้องคิดว่าน่าจะถามอะไร ข้อไหนน่าจะตอบอะไร

...แถมต้องวงคำตอบให้ทันอีก… แค่ฟังให้ออกก็ยากละ ต้องอ่าน ต้องคิด ต้องจำอีก …. มันถึงคะแนนเยอะไงหละครับ ดังนั้น ถ้าอยากให้คะแนน TOEIC ของเราเยอะขึ้น ก็ควรเน้น Listening ให้มากๆ ทำเต็มไปเลยครับจะได้ไม่วุ่นวาย


เหนือยมั๊ย? เบรค 10 นาที แล้วมาอ่านกันต่อ

 

เทคนิคที่ 6 เทคนิคพิชิตแต่ละ Part


Listening Comprehension (Part 1-4) 100 ข้อ


Part 1: Photograph สำหรับ TOEIC ใหม่ปรับจากเดิม 10 ข้อ เป็น 6 ข้อ จะมีการพูดประโยคมาข้อละ 4 ตัวเลือก ให้เราเลือกตอบประโยคที่ถูกต้องและเกี่ยวข้องกับรูปมากที่สุด


เทคนิค: ให้ดูรูป แล้วถามตัวเองว่า เห็นอะไร เห็นใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ฟังกริยาดีๆ ฟังประธาน กรรมดีๆ อย่าลืม preposition และ นึกศัพท์ที่เกี่ยวข้องออกมาให้เยอะที่สุด


Part 2: Question-Response มี 25 ข้อ จากเดิม 30 ข้อ มหาโหด ไม่มีโจทย์ ไม่มีคำตอบ เน้น short memory คือ


ฟัง ตอบ ลืม ฟัง ตอบ ลืม ฟัง ตอบ ลืม ฟัง ตอบ ลืม… ไปเรื่อยๆ จนครบ 30 ข้อ

โจทย์จะอ่านคำถาม หรือประโยคบอกเล่าสั้นๆมา 1 ประโยค และอ่านคำตอบ มา 3 คำตอบ ให้เลือกข้อที่ถูกต้องและเกี่ยวข้องกับโจทย์มากที่สุด


เทคนิค: ฟังตัวแรกว่าถามว่าอะไร Who What When Where How Why หรือเป็น question tag แอบมีเรื่อง future/past tense มาด้วยบ้าง เน้น Wh questions นี่แหละครับ ระวัง When กับ Where มันเสียงคล้ายกัน พวก How often, How soon, How long, How far, How much นี่ก็ต้องฟังให้เคลีย


Part 3: Conversations มี 39 ข้อ จากเดิม 30 ข้อ (บทสนทนาชุดละ 3 ข้อ ก็รวมเป็น 13 ชุด) แต่ละชุดโจทย์จะอ่านบทสนทนามา แล้วต่อด้วยการอ่านคำถามให้ฟัง 3 ข้อ


เทคนิค: รีบอ่านโจทย์ และคำตอบของชุดแรก ตอนที่กำลังอธิบายวิธีการทำ (มีเวลาอ่านประมาณชุดละ 30 วินาที) ให้ทำความเข้าใจคำถาม และเดาคำตอบเอาไว้ เพราะการอ่านโจทย์และคำตอบก่อน จะทำให้เราฟังรู้เรื่องขึ้นจริงๆนะ…


ขณะฟังบทสนทนาให้ทำโจทย์ไปด้วย เมื่อบทสนทนาจบเราควรตอบครบแล้ว ถ้าไม่ครบ “มั่ว” ไปเลยครับ ไม่มีเหตุผลอะไรที่มาฟังเขาอ่านโจทย์ให้ฟังแล้วเราค่อยตอบ ไม่ทันแล้วครับ


ตอนที่อ่านโจทย์ให้ฟัง 3 ข้อ ให้เรารีบอ่านโจทย์และคำตอบของชุดต่อไป จะมีเวลาอ่านประมาณ 30 วินาที แล้วทำวนไปเรื่อยๆครับ จำไว้ว่าถ้าฟังไม่ออก ฟังไม่ทัน ข้อไหน ก็มั่วไปเลยครับ ไม่อย่างนั้นจะตายทั้ง 30 ข้อครับ

สมาธิต้องดี สติต้องมา ใจต้องนิ่งครับ Part นี้


Part 4: Short Talks มี 30 ข้อ ลักษณะเหมือน Part 3 เกือบทุกอย่าง ยกเว้นจะไม่ใช่บทสนทนา แต่จะเป็นการอ่านประกาศ ข่าว หรือคนบ่น ทำให้ยากกว่า Part 3 นิดหน่อย แต่หลักการทำเหมือนกัน สำหรับ TOEIC ใหม่ บางชุดจะมีภาพประกอบ


Reading Comprehension (Part 5-7) 100 ข้อ


Part 5: Incomplete Sentences มี 30 ข้อ จากเดิม 40 ข้อ ถามทุกอย่าง ตั้งแต่ Word family, Phrasal verb, Vocabulary, If clauses, Adverb of frequency, Prefix, Suffix, Tense, Preposition และทุกอย่างที่เคยเรียนมาตั้งแต่ชั้นประถม


เทคนิค: แยกให้ออกว่าโจทย์ถามอะไร แล้วดูในส่วนที่ต้องดู เพราะบางประเภทคำถามดูแค่รอบๆช่องว่างก็ตอบได้แล้ว บางข้อดูแต่คำตอบก็ตอบได้เช่นกัน ไม่ต้องอ่านทั้งหมด อย่าลืมนะครับ “อ่านในส่วนที่ต้องอ่าน”


Part 6: Text Completion มี 16 ข้อ จากเดิม 12 ข้อ ให้เป็นเนื้อเรื่องมา แล้วมีช่องว่างให้เติมคำศัพท์


เทคนิค: ดูหน้าตาแล้วคิดว่าต้องอ่านเยอะ แต่เปล่าเลยครับ ทำเหมือน Part 4 แต่ง่ายกว่าเพราะมีคำใบ้มาให้เยอะมาก แต่แปลกตรงที่เป็น Part ที่คนทำคะแนนได้ค่อนข้างน้อย และเสียเวลามาก


Part 5 กับ 6 ทั้งสอง parts 46 ข้อ ไม่ควรใช้เวลาทำเกิน 30-35 นาที

Part 7: Reading Comprehension มี 54 ข้อ จากเดิม 48 ข้อ!!! เยอะเข้าไปอีก (ของเดิมก็อ่านไม่ทันแล้ว) ถือเป็นคะแนนกว่าครึ่งของ Reading Part เลยครับ ใครชอบอ่าน Part นี้ก็คงเป็นเหมือนขนมหวานหลังอาหารจานหลัก เหมือนคนรักเราที่กำลังเฝ้ารอ แต่สำหรับคนส่วนใหญ่มันคือ #นรก มันคือยานอนหลับ มันคือมารที่ทำให้ท้อ และมันคือที่วัดดวงว่าใครเดาถูกมากกว่ากัน


ลองนึกภาพนะครับ นั่งทำสอบมากว่าชั่วโมง ทั้งฟังมา 100 ข้อ ทำ grammar มากว่า 50 ข้อ ง่วงก็ง่วง สมองก็ล้า แอร์ก็เย็น ขาก็ชา ปวดฉี่ หิวนำ้ หิวข้าว โอย… ปัญหาสารพัด ยังต้องมาเจอบทความยาวๆ เยอะๆ อีกกว่า 18 บทความ คำถามอีก 54 ข้อ… เจ้าหน้าที่ก็ประกาศว่าเหลืออีก 30 นาที ทุกคนพร้อมใจกันเปิดไปดูกว่าเหลืออีกกี่ข้อ สิ่งที่เห็นเหมือนกันคือยิ่งเปิด ข้อสอบยิ่งเยอะ ตัวหนังสือเต็มไปหมด…. ปิศาจร้ายในหัวเราก็ตะโกนบอกว่า “ไม่เอาแล้วโว๊ย มั่วเลยๆ!” แล้วก็มั่วกันไป 20 ข้อ เอา 100 คะแนนไปเสี่ยงซะงั้น


เทคนิค: ก่อนทำ part นี้ พักสายตาซักนิด เงยหน้าบ้าง ขยับแขนขยับขาบ้าง ขายใจเข้าลึกๆ แล้วอ่าน… ครับ “อ่าน” เพราะมันคือ part ที่ต้องอ่าน ไม่อ่านก็ทำไม่ได้ อย่ามโน


ไม่ต้องอ่านทุกบรรทัด เพราะไม่จำเป็นขนาดนั้น อ่านแบบเร็วๆ Skimming

ส่วนใครจะอ่านคำถามก่อน อ่านคำตอบด้วย หรืออ่านคำถามอย่างเดียว แล้วไปดูบทความ หรืออ่านบทความก่อน ก็เอาที่สบายใจไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว มันจะมีคำถามประมาณ 4-5 รูปแบบ มีทั้งแบบเจอคำตอบตรงๆ มีแบบต้องตีความ มีแบบข้อใดไม่ใช่… มี Vocabulary ด้วยนะ Part นี้อย่างที่บอก คนจะมั่วเยอะเพราะทำไม่ทัน ไม่ใช่ทำไม่ได้ ฝึกเยอะๆ ครับช่วยได้มากเลย

Part 7 นี้ไม่ควรใช้เวลาทำเกิน 45 นาที

เทคนิคที่ 7 ฝึก “ฝน”


เพราะเวลามันน้อย ทุกอย่างจึงต้องวางแผนให้ดี รวมถึงการฝนกระดาษคำตอบด้วย


การฝนคำตอบ 1 ข้อ โดยเฉลี่ยเราจะใช้เวลาประมาณ 5 วินาที 100 ข้อ ก็ 500 วินาที หรือ 8 นาทีกว่าๆ… ห๊ะ!! 8 นาทีเชียวรึ ไม่น้อยนะครับ เพราะฉะนั้นฝึก “ฝน” ด้วย ไม่ต้องเนียนมากมายเกินไป เวลาสำคัญครับ


เทคนิคที่ 8 จงเกลียดมัน


เคยเกลียดใครมากๆ ไหมครับ? เราจะบอกคนที่เราเกลียดว่าอะไร?


“ชาตินี้ ชาติหน้าขออย่าได้เจอกันอีกเล้ย” ใช่ไหมครับ?


เราก็บอก TOEIC แบบนี้ได้เหมือนกัน “ฉันเกลียดแก ขอสอบทีเดียวผ่าน แล้วชาตินี้อย่าเจอกันอีกเลย" ตั้งใจให้เต็มที่ ทีเดียวผ่านไปเลยครับ อ่อ...สอบหลายๆ รอบก็ได้นะครับ (แต่ระวังเรื่องค่าใช้จ่าย) เพราะบางครั้งการสอบทีเดียวแล้วต้องการจะให้ผ่านเลยนั้น มันจะกดดันตัวเราเอง แล้วจะเป็นเหมือนเทคนิคที่ 3 + 4


เทคนิคที่ 9 ติวให้คนอื่น


การทดสอบตัวเองที่ดีที่สุดคือการที่คุณไปติวให้คนอื่น ไม่ใช่ให้คนอื่นมาติว การสอนคนอื่นนั้นเราต้องเตรียมตัวเป็นสองหรือสามเท่า เพราะเรากำลังรับผิดชอบคนที่มาเรียนด้วย คนติวต้องสามารถอธิบายได้ชัดเจน คล่องแคล่ว และสามารถบอกได้ว่าทำไมต้องตอบข้อนี้ และทำไมถึงไม่ตอบข้ออื่น


ถ้าพบข้อติดขัด อธิบายไม่ได้ หรืออธิบายไม่เข้าใจ นั่นหมายความว่าเราต้องกลับมาพิจารณาว่าเราพลาดจุดใดไป ดังนั้น การติวให้คนอื่นจะทำให้เรารู้จุดเด่นของตัวเอง และรู้ถึงจุดด้อยของตัวเองได้ในเวลาเดียวกัน


เทคนิคที่ 10 เทคนิคสุดยอด พิชิตทุกสนามสอบ


“เริ่มฝึกทำโจทย์ได้แล้วครับ”

บทสรุป


ถ้าทนอ่านมาถึงตรงนี้ ก็แสดงว่าคุณมีความมุ่งมั่น และตั้งใจที่จะลุยในระดับหนึ่งแล้ว และได้เทคนิคในการทำสอบ TOEIC ไปแล้ว ประเด็นมันอยู่ที่ว่าจะลองทำกันหรือเปล่า ผมเชื่อว่าการที่เราจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างให้ดีขึ้น เราต้องทำอะไรที่ต่างไปจากเดิม และหาวิธีที่เข้ากับตัวเองมากที่สุด ได้เวลาก้าวออกมาจาก Comfort Zone แล้วครับ


You can't do what you are doing and expect different results.

ถามตัวเองว่าเราสอบ TOEIC เพื่ออะไร สอบได้แล้วชีวิตจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่ผ่านจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา เราจะทำอะไรที่ต่างไปจากเดิมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับชีวิต จงเชื่อมั่นว่าเราทำได้ จงเชื่อว่ามันเป็นไปได้ สร้างกำลังใจให้กับตัวเองเริ่มจากสิ่งที่เราถนัด สิ่งที่เราเก่ง ตามด้วยการรู้ตัวเอง รู้กำหนดเวลา และรู้เป้าหมาย สุดท้ายสำคัญสุด

Comments


bottom of page