top of page
Writer's pictureSathaworn

การกระทำผิดในการเดินทางทางอากาศ – UNRULY PASSENGERS

ข้อมูลที่สำรวจโดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ในเรื่องพฤติกรรมของผู้โดยสารไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับขณะที่อยู่บนเครื่องบิน พบว่ามีรายงานการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 3,509 ครั้ง ในปี 2564 (ข้อมูลถึงเดือนกรกฎาคม 2564) ซึ่งเหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นคือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสวมใส่หน้ากากอนามัยขณะอยู่บนเครื่องบิน (2,605 กรณี)


พฤติกรรมของผู้โดยสารไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับขณะที่อยู่บนเครื่องบิน (Unruly passenger behaviors) นั้นส่งผลให้ทางสายการบินเกิดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการมากขึ้น และเป็นเหตุให้เกิดความไม่สะดวกสบายจากการที่เครื่องบินอาจจะต้องทำการล่าช้า การเปลี่ยนแปลงทิศทางหรือจุดหมายปลายทางเดิมเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากผู้โดยสารที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์บนเที่ยวบินนั้น ๆ


ผู้โดยสารอาจจะมีปฏิกิริยาทางอารมณ์เมื่อต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการหงุดหงิดที่แรงได้ เช่น เมื่อต้องอยู่ในบริเวณที่มีคนมากๆในสนามบิน เมื่อต้องนั่งในพื้นที่แคบๆเป็นเวลานาน ความกลัวที่จะต้องบินหรือเมื่อสื่อต่างๆรายงานถึงความเป็นไปได้ของการเกิดการก่อการร้าย ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ล้วนนำไปสู่พฤติกรรมของผู้โดยสารที่ไม่เหมาะสมบนเครื่องบินทั้งสิ้น


ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะสร้างความยากลำบากในการประกอบธุรกิจในปัจจุบันเนื่องด้วยสภาพการแข่งขันที่สูงมาก และผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้สายการบินต้องพยายามลดหรือตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อให้สามารถทำการแข่งขันกับสายการบินอื่น ๆ ได้ ประกอบกับการที่ต้องรักษาฐานลูกค้าเดิมให้อยู่กับสายการบิน และหากลุ่มลูกค้าใหม่ให้เข้ามาใช้บริการสายการบินของตนเพื่อความอยู่รอด และโอกาสในการสร้างกำไรจากการทำธุรกิจ





ดังนั้นปัญหาพฤติกรรมของผู้โดยสารไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับขณะที่อยู่บนเครื่องบินนั้น เป็นปัญหาอันดับต้นๆที่สายการบินต่าง ๆ กำลังให้ความสนใจเนื่องจากเป็นสาเหตุทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และอาจทำให้สูญเสียลูกค้าเดิมไป รวมถึงทำให้ยากต่อการสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆอีกด้วย


ตามผนวกที่ 17 (Annex 17) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ได้อธิบายความหมาย Unruly passenger ไว้ว่า

“ผู้โดยสารที่ไม่เคารพกฎระเบียบด้านการปฏิบัติตนขณะที่อยู่ในท่าอากาศยาน หรือบนอากาศยาน หรือไม่ปฏิบัติตามข้อแนะนำต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ของท่าอากาศยาน หรือเจ้าหน้าที่ของสายการบิน และด้วยเหตุนั้นเป็นเหตุให้เกิดการรบกวนความสงบเรียบร้อย และเป็นฝ่าฝืนข้อบังคับต่าง ๆ ขณะที่อยู่ในท่าอากาศยานหรือบนอากาศยาน”

ปัจจัยที่ทำให้เกิดพฤติกรรมของผู้โดยสารไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับขณะที่อยู่บนเครื่องบิน

  1. การมึนเมาจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือการกินยาบางชนิด

  2. การถูกรบกวนจากผู้โดยสารคนอื่นขณะที่อยู่บนเครื่องบิน เช่น การถูกเตะที่นั่งจากผู้โดยสารด้านหลัง ปัญหาการใช้ที่วางแขนร่วมกัน การที่ผู้โดยสารด้านหน้าเอนที่นั่งไปด้านหลังมากเกินไป หรือแม้กระทั่งได้รับความรำคาญจากปัญหาสุขอนามัยของผู้โดยสารที่นั่งบริเวณใกล้ๆ

  3. อาการหงุดหงิดอันเนื่องมาจากการเดินทาง เช่น การเดินทางระยะไกล การที่ไม่ได้สูบบุหรี่มาเป็นเวลานาน การถูกห้ามไม่ให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ความไม่พอใจในการให้บริการของพนักงานต้อนรับ เป็นต้น

  4. อาการทางจิต เช่น อาการวิตกกังวล อาการกลัวสิ่งต่าง ๆ

  5. ความแตกต่างทางด้านลักษณะนิสัยระหว่างผู้โดยสารโดยกันเอง หรือระหว่างผู้โดยสารกับพนักงานบนเครื่องบิน

  6. การกระตุ้นที่มีเหตุมาจากปัจจัยภายนอกเครื่องบิน เช่น ผู้โดยสารประสบปัญหาการตกงาน

  7. อาการที่เกิดจากการไม่ได้รับประทานยาตามกำหนด

  8. ปฏิกิริยาทางอารมณ์เมื่อต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการหงุดหงิดที่แรงได้ เช่น เมื่อต้องอยู่ในบริเวณที่มีคนมาก ๆ ในสนามบิน เมื่อต้องนั่งในพื้นที่แคบเป็นเวลานาน ความกลัวที่จะต้องบิน หรือมีการรายงานจากสื่อต่าง ๆ ถึงความเป็นไปได้ของการเกิดการก่อการร้าย เป็นต้น

ประเภทของพฤติกรรมของผู้โดยสารประพฤติตนไม่เหมาะสมบนอากาศยาน

  1. อาการมึนเมา หรือการสูบบุหรี่บนเครื่องบิน

  2. การปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามข้อแนะนำด้านความปลอดภัยบนเครื่องบิน เช่น การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย หรือการรบกวนการประกาศข้อความด้านความปลอดภัย การไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยขณะที่อยู่บนเครื่องบิน หรือในบริเวณที่กำหนด

  3. การเผชิญหน้า โต้เถียงกับพนักงานของสายการบิน หรือกับผู้โดยสารคนอื่น

  4. การใช้ความรุนแรงกับพนักงานของสายการบิน หรือกับผู้โดยสารคนอื่น

  5. ผู้โดยสารขัดขวางการทำงานของพนักงานสายการบิน หรือไม่ยอมทำตามข้อแนะนำในการขึ้นเครื่องบิน หรือการออกจากเครื่องบิน

  6. การข่มขู่ที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของพนักงานสายการบิน ผู้โดยสาร หรือเครื่องบิน เช่น การขู่ที่จะทำร้าย หรือฆ่า รวมถึงการขู่วางระเบิด และการพยายามที่จะบุกรุกห้องนักบิน

  7. การคุกคามทางเพศ การลวนลาม

  8. พฤติกรรมความวุ่นวายอื่นที่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัย หรือส่งผลต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยบนเครื่องบิน เช่น การกรีดร้อง ส่งเสียงดัง พฤติกรรมที่สร้างความรำคาญ รวมถึงการเตะ การกระแทกพนักพิงหรือเก้าอี้โดยสารด้านหน้า เป็นต้น

กฎหมายข้อบังคับ และการพัฒนาปรับปรุงบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย

มาตรา 26 ของ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากายาน พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้มีการเพิ่มเนื้อหาด้านความผิดเกี่ยวกับการเดินอากาศและอากาศยาน โดยเน้นถึงพฤติกรรมผู้โดยสารประพฤติตนไม่เหมาะสมบนอากาศยาน เช่น

  • สูบบุหรี่บนเครื่องบิน / ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเวลาที่ห้ามใช้ / นำสิ่งต้องห้ามขึ้นเครื่อง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนักบิน หรือลูกเรือ (ในกรณีเพื่อรักษากฎ และความเรียบร้อย) ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • ใช้กำลังประทุษร้ายผู้อื่นบนเครื่องบิน ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 80,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • ลวนลาม / คุกคามทางเพศ / การกระทำต่อร่างกายผู้อื่นอันเป็นการมุ่งหมายทางเพศ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 120,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • ใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น / ทำให้เสียทรัพย์ / มีนเมา หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในอากาศยาน และอาจเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยานหรือบุคคลอื่น ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • ใช้กำลังทำร้ายนักบิน หรือลูกเรือ / ขู่เข็ญด้วยวิธีใด ๆ ซึ่งส่งผลให้นักบิน หรือลูกเรือเกิดความกลัว ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 280,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • ทำร้ายร่างกายผู้อื่น และการกระทำนั้นน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยาน ระวางโทษจำคุก 5-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 – 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แนวทางในการบริหารจัดการพฤติกรรมของผู้โดยสารไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับขณะที่อยู่บนเครื่องบิน

ความปลอดภัยทางด้านการบินนั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่ขณะที่ผู้โดยสารอยู่ในบริเวณท่าอากาศยาน ซึ่งวิธีการบริหารจัดการปัญหาจากพฤติกรรมของผู้โดยสารไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับขณะที่อยู่บนเครื่องบินที่ดีที่สุดนั้น คือการไม่อนุญาตให้ผู้โดยสารที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมขึ้นเครื่องบินโดยเด็ดขาด

ถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นขณะทำการบิน จะส่งผลให้พนักงานบนเครื่องบินประสบปัญหาในการจัดการกับเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า หรือทำการติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอความช่วยเหลือในขณะที่ทำการบินได้


การได้รับอำนาจในการตัดสินใจ มีการสนับสนุนจากองค์กรและพนักงาน นโยบายขององค์กรที่ชัดเจน และการฝึกอบรมที่เหมาะสม ล้วนส่งผลต่อความสามารถของพนักงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการรับมือกับปัญหาผู้โดยสารไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับขณะอยู่บนเครื่องบิน และควรมีการกำหนดกระบวนการในการจัดการคำร้องเรียนที่ได้มาตรฐาน มีการจัดทำฐานข้อมูลของผู้โดยสารที่มีประวัติพฤติกรรมไม่เหมาะสม และมีระบบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพสูงที่สุด


โดยผู้บริหารต้องมอบอำนาจหน้าที่ให้กับเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินเพื่อที่จะสามารทำการสั่งการ หรือการปฏิเสธการขึ้นเครื่องบิน (deny boarding) ของผู้โดยสารที่มีแนวโน้มที่จะเกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสมทำการขึ้นเครื่อง เช่น เมื่อพนักงานภาคพื้นดินพบว่ามีผู้โดยสารอยู่ในอาการมึนเมาก็สามารถที่จะปฏิเสธไม่ให้ผู้โดยสารท่านนั้นขึ้นเครื่องบินได้ และพนักงานควรจะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรในกรณีเกิดการฟ้องร้องอีกด้วย





นอกจากการสื่อสารนโยบายของสายการบินให้กับพนักงานของสายการบินเองแล้วนั้น สายการบินต้องทำการสื่อสารนโยบายให้กับผู้โดยสารของสายการบินของตนด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการลดปัญหาผู้โดยสารมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม โดยทางสายการบินสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้โดยสารผ่านทางเว็บไซต์ ข้อตกลงในการเดินทาง นิตยสารบนเครื่องบินหรือผ่านทางระบบให้ความบันเทิงต่าง ๆ บนเครื่องบิน หรืออาจจัดทำแผ่นพับชี้แจงนโยบายโดยเฉพาะให้กับผู้โดยสารก็ได้


ซึ่งเนื้อหาที่ใช้ในการสื่อสารนั้นก็จะอยู่ในขอบเขตเกี่ยวกับรายละเอียดของนโยบาย ผลลัพธ์จากการกระทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ ทั้งบนภาคพื้นดินและบนเครื่องบิน รวมถึงอำนาจหน้าที่และสิ่งที่พนักงานบนเครื่องบินสามารถกระทำได้


2 views0 comments

留言


bottom of page