ในปัจจุบัน คำว่า "Sustainability" หรือ "ความยั่งยืน" กลายมาเป็นแนวคิดการบริหารจัดการที่ทุกคนให้ความสนใจ และให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้สำหรับองค์กรธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต บริการ หรือเทคโนโลยี
เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยได้ยิน หรือรู้จักกับ "เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)" ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นแนวทางที่กำหนดไว้เพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคม และสิ่งแวดล้อมในระดับโลก ที่ประกอบด้วย 17 เป้าหมายที่มุ่งเน้นการขจัดความยากจน การส่งเสริมความเท่าเทียม และการรักษาสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่
สิ่งแวดล้อม (Environmental) มุ่งเน้นการรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ การลดมลพิษ และการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้พลังงานหมุนเวียน
สังคม (Social) มุ่งเน้นการส่งเสริมความเท่าเทียม ความเป็นธรรมในสังคม การให้การศึกษาที่มีคุณภาพ การดูแลสุขภาพที่ดี และการสร้างงานที่มีคุณค่า
เศรษฐกิจ (Economic) มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเติบโตอย่างยั่งยืน และการลดความยากจน โดยส่งเสริมการมีงานทำที่เป็นธรรมและการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน
ในขณะเดียวกัน แนวคิด ESG (Environmental, Social, and Governance) ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่เชื่อมโยงกับ SDGs โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการที่ยั่งยืน "ในระดับองค์กร"
โดยมีองค์ประกอบหลักสามด้าน ได้แก่ "ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ด้านสังคม (Social) และด้านหลักธรรมาภิบาล (Governance)" ซึ่ง ESG มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความยั่งยืนในระยะยาว และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันขององค์กร
และเป็นปัจจัย 3 ประการที่ "ผู้ลงทุนใช้พิจารณา" ในการประเมินด้านความยั่งยืน และผลกระทบทางจริยธรรมของการลงทุนในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง
ความเป็นมาของแนวคิด ESG
แนวคิด ESG มีรากฐานมาจากการพัฒนาของแนวคิดการบริหารจัดการที่ยั่งยืน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ที่ได้เสนอแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า
"การพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของปัจจุบันโดยไม่ทำลายความสามารถของคนรุ่นต่อไปในการตอบสนองความต้องการของตนเอง"
"Development that meets the needs of the present without compromising the ability of future generations to meet their own needs."
ความสำคัญของ ESG ต่อการดำเนินธุรกิจ
แนวคิด ESG ไม่เพียงแค่เป็นเรื่องของการปฏิบัติตามกฎหมาย หรือข้อกำหนดต่าง ๆ แต่ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรในหลาย ๆ ด้าน เช่น การเพิ่มความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใส การลดความเสี่ยงทางธุรกิจ การสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นต้น
โดยการบริหารจัดการที่ยั่งยืนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2006 องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (International Finance Corporation) ได้นำเสนอหลักการแนวทางด้าน ESG เพื่อเป็นมาตรฐานในการประเมินความเสี่ยง และการลงทุนของธุรกิจ
ในขณะเดียวกัน นักลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเริ่มเห็นความสำคัญของการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แนวคิด ESG จึงกลายเป็นส่วนสำคัญในการวางกลยุทธ์ และการดำเนินงานขององค์กร
ในส่วนต่อไปจะนำเสนอแนวทางการนำ ESG Strategic Management มาใช้ในอุตสาหกรรมโดยเฉพาะใน "อุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย" โดยจะมีการนำเสนอแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) และกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้ และเข้าใจถึงความสำคัญของ ESG ในการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร
บทความทั้งหมดจะประกอบด้วย
1. แนวคิด ESG
2. แนวคิดด้าน สิ่งแวดล้อม (E) ด้านสังคม (S) และด้านการกำกับดูแล (G)
3. บทบาทของ ESG ในประเทศไทย และบทบาทในอุตสาหกรรมการบินของไทย
4. การประยุกต์ใช้ ESG ในองค์กร
Commentaires