top of page
Writer's pictureSathaworn

สวดมนต์ดีอย่างไร

ด้วยเหตุอย่างนี้แล พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก (ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า) เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีโชค พระธรรมเป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล (อกาลิโก) เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด (เอหิปัสสิโก) เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว (โอปนยิโก) เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน (ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ) พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้ว ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว ปฏิบัติสมควรแล้ว ได้แก่ คู่แห่งบุรุษ 4 คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ 8 บุรุษ นั่นแหละ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

คำแปลบทสวด - อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุขโต โลกะวิทู อนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติสวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูฮีติ สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐปุริสปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเนยโย อัญชะลีกะระณีโย อนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ


จำได้ว่าตอนบวช (อายุ 25) ก่อนบวชต้องท่องบทสวดขอบรรพชาอุปสมบท ซึ่งยาวมาก ตื่นเต้นต้องท่องต้องเตรียมตัวเหมือนจะไปสอบ ตอนระหว่างพิธีก็ตื่นเต้นกลัวจำไม่ได้ แต่สุดท้ายก็ผ่านไปด้วยดี ระหว่างเป็นพระด้วยความเป็นคนขี้สงสัย ชอบถามก็เลยถามพระพี่เลี้ยงว่า บทสวดมนต์คืออะไร แล้วแต่ละบทแปลว่าอะไร หลวงพี่บอกว่าบทสวดมนต์ก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่คนรวบรวมมาเพื่อสรรเสริญ เพื่อระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนแปลว่าอะไรนั้น อย่าเพิ่งคิดมากให้เริ่มสวดก่อน ถ้าเกิดความสงสัยตอนสวดก็จะพกความสงสัยติดมาด้วย ช่วงสวดมนต์อย่าคิดอะไรเยอะ ถ้าอยากรู้ความหมายจริงๆ ค่อยไปหาอ่านเพิ่มเติมเอา


การสวดมนต์สำหรับผมแล้วถือเป็นการทำสมาธิอย่างนึง คือ ณ ขณะที่สวดมนต์ จิตจะไม่ค่อยวุ่นวาย ไม่ไปไหนไกล เพราะต้องตั้งใจ จดจ่ออยู่กับบทสวดที่กำลังสวดอยู่ เวลาปกติมักจะไม่ค่อยสวดเท่าไหร่ จะไปห้องพระจุดธูป จุดเทียน นั่งสวดมนต์ก็ต่อเมื่อชีวิตไม่ราบรื่น หรือมีปัญหาในชีวิต ซึ่งพอสวดแล้วก็รู้สึกสบายใจขึ้นจริงๆ เป็นเหมือนผมกันไหมครับ? ผลการวิจัยบอกว่าการที่เราสวดมนต์แล้วสบายใจขึ้น ก็เป็นเพราะการสวดมนต์ช่วยบรรเทาความเครียด ผ่านการทำสมาธิ และความสงบนั่นเอง


สวดมนต์

บทสวดมนต์คือ?

จากการค้นคว้าหาข้อมูลมา พอสรุปได้ว่าบทสวดมนต์ในพุทธศาสนา คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ถูกรวบรวม นำมาเรียบเรียง และจัดทำเป็นบทสวดภาษาบาลีในรูปแบบต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติธรรม แสดงความเคารพ และระลึกถึงพระรัตนตรัย รวมถึงเพื่อใช้ในการทบทวนคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา การทำวัตรเช้า-เย็น และการปฏิบัติภาวนาเพื่อความเป็นสิริมงคล ความสงบสุขทางจิตใจ


ตัวอย่างเช่น บทสวดพาหุงฯ บทสวดนี้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงเอาชนะพญามาร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจฝ่ายอธรรม โดยใช้หลักธรรมอันประกอบด้วย ทาน (การให้) ศีล (การรักษาศีล) และภาวนา (การเจริญสมาธิและปัญญา) มิใช่ด้วยกำลังหรืออาวุธ


การสวดบท "พาหุง (พระหัตถ์)" จึงเป็นการแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้า ระลึกถึงชัยชนะของพระองค์ที่มีต่อกิเลสและอวิชชา และเป็นการอัญเชิญบุญญาธิการ ให้เกิดชัยมงคลความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต นอกจากนี้ยังเป็นการย้ำเตือนเราให้ใช้หลักธรรมในการดำเนินชีวิต เอาชนะอุปสรรคด้วยความดีงาม มิใช่ด้วยความรุนแรงหรือทางอธรรม บทสวดนี้จึงมีความหมายสำคัญทั้งในด้านการแสดงความเคารพบูชา การอัญเชิญบุญมงคล และปลูกฝังแนวทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องด้วยนั่นเอง


ที่มาของบทสวดมนต์

หลักๆ มาจากคำสอนในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นหลักคำสอนสำคัญในพุทธศาสนา ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่

  1. พระวินัยปิฎก - ว่าด้วยพระวินัยของพระสงฆ์

  2. พระสุตตันตปิฎก* - ว่าด้วยพระสูตร บทสนทนาโต้ตอบธรรม และเทศนาต่างๆ

  3. พระอภิธรรมปิฎก - ว่าด้วยหลักพุทธปรัชญา และแก่นแท้ของพุทธธรรม


สวดมนต์ดีอย่างไร?

ผมใช้เวลาหลายวันในการค้นหา และรวบรวมผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของการสวดมนต์ พบว่ามีงานวิจัยหลายฉบับที่ศึกษาในหัวข้อนี้ โดยสามารถเอามาจัดเป็นกลุ่มๆ ได้ดังนี้


ประโยชน์ด้านสุขภาพกายและใจ

  • ช่วยจัดการปัญหาสุขภาพ เช่น ปัญหาการหายใจ การดูแลหลังผ่าตัด และอาการปวดกระดูกจากมะเร็ง

  • ลดอัตราการเต้นของหัวใจ กระตุ้นสภาวะสมาธิ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ส่งเสริมอารมณ์บวก ปรับปรุงการนอนหลับ และเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) โดยรวม

  • ลดความเครียดทางจิตใจในผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง

  • ช่วยบรรเทาความบอบช้ำทางจิตใจ (Trauma) ผ่านการทำสมาธิ และการค้นหาความสงบ


ประโยชน์ด้านจิตวิญญาณ และคุณธรรม

  • ส่งเสริมความกตัญญู ความมีน้ำใจ ความเกรงใจ นำไปสู่ความสุขที่เพิ่มขึ้น และความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีขึ้น

  • เสริมสร้างความเชื่อมโยงทางจิตวิญญาณ สอดคล้องกับคุณค่าทางพุทธศาสนาเรื่องความเมตตา การมีสติ และการเชื่อมโยงกับสรรพสัตว์

  • ช่วยเยียวยาตนเอง บรรเทาทุกข์ และเผชิญหน้ากับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น


ประโยชน์ด้านการพัฒนาตนเอง และการใช้ชีวิต

  • เพิ่มความสามารถในการรู้ตัวเองตามที่มองเห็นตนเอง (Self-Perception)

  • ส่งเสริมการฝึกสมาธิ ความเป็นอยู่ที่ดี ความสมหวัง และความหมายที่ลึกซึ้งในชีวิต

  • ช่วยจัดการกับความเครียดที่มีต่อการเจ็บป่วย โรค ความเจ็บปวด และความทุกข์ทรมาน ทำให้ชีวิตมีความหมายมากขึ้น


ประโยชน์ด้านการประกอบอาชีพ

  • ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม การมีสติ ลดอัตตา (Ego)

  • ช่วยพิจารณาความสามารถในการทำงาน และความสุขระยะยาวของบุคคล ชุมชน และองค์กรโดยรวม


ความหมายของบทสวดมนต์

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

"ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง"


อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ

วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู

อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ

สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ


"ด้วยเหตุอย่างนี้แล พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เพียบพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก

เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า

เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม"


พาหุง สหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง

ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง

ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ


"ด้วยกำลังแห่งบุญญาธิการอันใด ทำให้พระพุทธเจ้าทรงนิรมิตพระหัตถ์ถึงพันหัตถ์ มีศาสตราวุธอันพร้อมมูล และทรงชนะมารผู้มีโฆรเสนาอันตื่นแล้วที่ต้นคีรีเมขละ ด้วยทาน ศีล ภาวนา และวิธีทางธรรมอันอื่นเป็นเครื่องประหาร ด้วยเดชแห่งพระบุญญาธิการอันนั้นของพระมุนินทราช ขอชัยมงคลทั้งหลายจงบังเกิดมีแก่ท่านเถิด"


สรุปแล้วการสวดมนต์เป็นสิ่งที่ดี เวลาว่างๆ ก็ทำเถอะครับ ไม่ต้องรอให้ถึงเวลาเครียด หรือมีปัญหาแล้วค่อยทำ ลองสวดมนต์ตอนชีวิตดี หรือตอนสบายใจดู ทำเป็นประจำอย่างน้อยก็ส่งผลต่อคลื่นสมอง และช่วยคลายเครียดได้ครับ ส่วนความหมายของแต่ละบทสวดนั้น ผมคิดว่ารู้ไว้ก็ดีครับ ตอนสวดจะได้เข้าถึงมากขึ้น


*ถ้าแปลความหมายผิดขออภัย


สวดมนต์

อ้างอิง

Beuy, Joob., Viroj, Wiwanitkit. (2017). "Srpayya", praying song in Buddhism and its possible application for controlling of respiration problem.. Ayu (an International Quarterly Journal of Research in Ayurveda), doi: 10.4103/AYU.AYU_172_17


Chandana, Jayaratne., Sri, Lanka. (2010). Buddhist paritta (Pirit) chants for mental and physical well being - a scientific approach.


Chandana, Jayaratne., Sri, Lanka. (2007). Science behind the benefits of listening to Buddhist paritta (Pirit) Chants.


Fung, Kei, Cheng. (2017). Cancer-Induced Bone Pain Management Through Buddhist Beliefs.. Journal of Religion & Health, doi: 10.1007/S10943-017-0401-5


Grace, N, Stott. (2020). Buddhist Approaches to Environmentalism and Food Insecurity.


Lee, Jang, Man., Kum, Jong, San. (2011). A Buddhist rosary.


Annop, Sooksawat., Prawit, Janwantanakul., Tewin, Tencomnao., Praneet, Pensri. (2013). Are religious beliefs and practices of Buddhism associated with disability and salivary cortisol in office workers with chronic low back pain? BMC Musculoskeletal Disorders, doi: 10.1186/1471-2474-14-29


Daneshwar, Sharma., Saumyaranjan, Sahoo., Ashwani, Kumar., Donald, Huisingh., Dheeraj, Sharma. (2023). Corporate Nirvana: The Buddhist way to social sustainability and business innovation. Business Strategy and The Environment, doi: 10.1002/bse.3417

Comments


bottom of page